แผนปฏิบัติการประจำปี 2560 กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศตอนที่ 1
1. บทนำ
การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศต้องการความคล่องตัวสูง ทั้งในด้านการดำเนินกิจกรรมและ การสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อให้ทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก กระทรวงพาณิชย์จึงมี ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณในการพัฒนาและส่งเสริมการผลิต/การส่งออกสินค้า และบริการ การรักษาตลาดเดิมและการหาตลาดใหม่ การปกป้องผลประโยชน์ในทางการพาณิชย์ รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งออก เพื่อเร่งรัดการส่งออกของประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายส่งออกที่ได้กำหนดไว้ โดยภาครัฐและเอกชนได้เล็งเห็นความจำเป็นในการจัดตั้งเงินกองทุนฯ ดังนี้
1.1 สืบเนื่องจากการพัฒนา/ส่งเสริมการส่งออกของไทยขาดเงินทุนในการสนับสนุนความคล่องตัว สำหรับการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตและการส่งออกสินค้าและบริการ การรักษา การหาตลาด การปกป้องผลประโยชน์ในทางการพาณิชย์รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการส่งออก
1.2 หลักเกณฑ์และกฎระเบียบของเงินงบประมาณมีข้อจำกัด ทำให้การวางแผนและการสรรหาเครื่องมือที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในการบริหารกิจกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด มีข้อจำกัดภายใต้ระเบียบดังกล่าว โดยเฉพาะโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องใช้ความเร่งด่วนในการดำเนินการทุกรูปแบบเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
1.3 โครงการที่ภาคเอกชนมีความเชี่ยวชาญและสามารถดำเนินการได้ดีกว่าภาครัฐ แต่ระเบียบเงินงบประมาณไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนดำเนินการได้ทั้งหมด เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น
ดังนั้น ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2524 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอ เรื่องหลักการเบื้องต้น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ และร่างระเบียบว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันจัดทำ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ซึ่งให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
วันที่ 29 ธันวาคม 2524 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจาก การนำเข้าในอัตราร้อยละ 0.5 ของราคา C.I.F เพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ จำนวน 300 ล้านบาท และนำดอกผลมาใช้ในโครงการส่งเสริมการส่งออก ต่อมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแนวทางการหารายได้สมทบกองทุนฯ จากการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากการนำเข้าอีกครั้ง โดยใช้หลักเกณฑ์การจัดเก็บเงินเช่นเดียวกับครั้งแรก และได้ยกเลิกการจัดเก็บในเดือนกันยายน 2534
ที่มา กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th