The Knowledge Provider | Advanced Research Group

Back

กฎหมายแรงงานใหม่ 2562 เพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรให้กับลูกจ้างบ้าง

กฎหมายแรงงานใหม่ 2562 เพิ่มสิทธิประโยชน์อะไรให้กับลูกจ้างบ้าง

08-05-2019

        สำหรับคนที่กำลังหางาน หรือกำลังทำงานอยู่ต้องติดตามเรื่องนี้ไปกับเรา เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งมีดังต่อไปนี้

 

 

กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง และค่าชดเชย

        นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด เงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย หรือไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ ค่าชดเชยอื่น ๆ และไม่จ่ายเงินในกรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่บอกล่วงหน้า

        จากในกรณีที่กล่าวไปข้างต้น หากเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น นายจ้างจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้า หรือ 15% ต่อปี

 

        ส่วนกรณีนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยไม่บอกล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างด้วย ซึ่งจำนวนที่จ่ายเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรได้รับ นับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างออกจากงาน จนถึงวันที่เลิกสัญญาจ้าง โดยจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันออกจากงาน

 

 

 

นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้มีความเท่าเทียมกัน

        นายจ้างจะต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานที่มีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกัน ในอัตราเท่ากันไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นชาย หรือหญิงก็ตาม

 

 

ทำงานติดต่อกัน 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี รับค่าชดเชย 300 วัน

        ในกรณีนี้นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษเป็นเวลา 300 วัน ให้กับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกัน 10 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย

 

 

ทำงานติดต่อกัน 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน

        ในกรณีนี้จะคล้ายกับกรณีข้างบน แต่ต่างกันตรงที่ระยะเวลาจ่ายค่าชดเชย  โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเวลา 400 วัน หรือประมาณ 13.3 เดือน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคำนวณเป็นหน่วย

 

 

กรณีเปลี่ยนแปลงนายจ้าง

        ในกรณีนี้ทำให้ลูกจ้างมีสิทธิในการร่วมตัดสินใจ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนายจ้างใหม่ หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล และได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด

        หากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้ลูกจ้างคนใดคนหนึ่งไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ ซึ่งการเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ ตัวลูกจ้างจะต้องยินยอมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย และนายจ้างคนใหม่จะต้องให้สิทธิและหน้าที่ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างคนเก่าเหมือนเดิม เพราะนายจ้างคนใหม่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับลูกจ้างทุกประการ

 

 

ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระได้ 3 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้าง

        ทุกคนมีสิทธิมีธุระ ดังนั้นลูกจ้างก็มีสิทธิในการลากิจเพื่อไปทำธุระได้ โดยไม่เกิน 3 วันต่อปีและต้องจ่ายค่าจ้างเท่ากับในวันทำงานตลอดระยะเวลาการลา

 

 

 

ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ ลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วันต่อปี

        ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์ สามารถลาคลอดบุตรครรภ์หนึ่งได้ไม่เกิน 98 วันต่อปี ซึ่งรวมถึงวันลา เพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร และนับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลาด้วย โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่คลอดบุตร เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน

 

        การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายแรงงานใหม่นี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่การจ่ายเงินชดเชย และจำนวนวันที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงการทำบัญชี ที่ต้องมีการแก้ไขการลงบัญชีบางส่วน อย่างจากเดิมที่ต้องบันทึกบัญชีจ่ายค่าชดเชย 300 วันให้กับผู้ที่ทำงานติดต่อกัน 20 ปี เปลี่ยนเป็น 400 วัน และเพิ่มค่าชดเชยให้กับผู้ที่ทำงานติดต่อกัน 10 ปีด้วย

 

เพิ่มเติม : คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 7

บอกต่อ : 
The Knowledge Provider (AR Group)

Back