เช็กลิสต์ก่อนปิดบริษัท
สาเหตุของการปิดกิจการมีหลายสาเหตุด้วยกัน โดยหลังจากที่มีความคิดเห็นที่จะยกเลิกกิจการจะมีขั้นตอนจดทะเบียนเลิกบริษัทอย่างไรบ้างมาดูกัน
มีจดทะเบียนบริษัท ก็ต้องมีจดเลิกบริษัท
- ทำหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีมติพิเศษในการเลิกบริษัท ก่อนวันประชุมไม่ต่ำกว่า 14 วัน หลังจากนั้นทำการจัดส่งให้กับผู้ถือหุ้น
- การจัดประชุมผู้ถือหุ้น จะต้องมีมติพิเศษให้เลิกบริษัทด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าร่วมประชุม
- ประกาศลงหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ครั้ง รวมถึงส่งหนังสือบอกเจ้าหนี้ให้ทราบ ถ้าหากมีเจ้าหนี้ ภายใน 14 วันนับจากมีมติเลิกบริษัท
- ตั้งผู้ชำระบัญชี เพื่อยื่นขอจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วันนับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท
แจ้งเลิกกิจการกับประกันสังคม
แจ้งเลิกกิจการต้องยื่นแบบเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง สปส.6-15 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากไม่แจ้งจะโดนเรียกเก็บเงินย้อนหลัง พร้อมสำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนเลิกที่กระทรวงพาณิชย์
สรุปบัญชี เคลียร์หนี้สินและภาษีให้ครบถ้วน พร้อมแจ้งกับกรมสรรพากรว่ายกเลิกกิจการ
เป็นปกติอยู่แล้วที่พอมีการเลิกกิจการจะต้องดูว่าบริษัทมีทรัพย์สินอะไรบ้าง และหนี้สินที่เหลืออยู่ เพื่อที่จะได้เคลียร์ก่อนจะปิดงบเลิกกิจการ เช่น หากมีหนี้ก็ต้องติดตามชำระหนี้กับลูกหนี้ให้ครบ ส่วนสินทรัพย์ที่เหลือขายออกเพื่อนำเงินสดมาเก็บไว้ เป็นต้น
โดยภาษีของบริษัทมีหลายตัวมาก ๆ ที่ต้องจัดการให้จบ ก่อนยกเลิกกิจการ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเลิกประกอบกิจการยื่นแบบและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอแจ้งเลิกประกอบกิจการในทางภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางกรมสรรพากร โดยผู้ประกอบการต้องแจ้งเลิกประกอบกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันที่เลิกประกอบกิจการ ซึ่งมีเอกสารดังต่อไปนี้
- แบบ ภ.พ.09 จำนวน 4 ฉบับ
- ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.20 (ฉบับจริง)
- ภ.พ.01 และ ภ.พ.01.1 (ฉบับจริง)
- สำเนาใบเสร็จแสดงการชำระภาษี ภ.พ.30 พร้อมสำเนา ย้อนหลัง 2 ปี นับตั้งแต่วันเลิก
- สำเนาใบเสร็จแสดงการชำระภาษี ภ.ง.ด.50, ภ.ง.ด.51 พร้อมสำเนาย้อนหลัง 2 ปี พร้อมงบการเงิน นับตั้งแต่วันแจ้งเลิก
- หนังสือรับรองการเลิกกิจการจากกระทรวงพาณิชย์ (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
- สำเนาบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม (พร้อมตัวจริง)
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท (กรณีมอบอำนาจ)
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)
- หนังสือชี้แจงเหตุผลที่เลิกกิจการ
- งบการเงิน ณ วันที่เลิกกิจการ
- แผนที่ที่ตั้งของกิจการ
อย่างไรก็ตาม สรรพากรพื้นที่อาจขอเอกสารแตกต่างกันไปขึ้นอยู่แต่ละธุรกิจ ตรวจสอบเอกสารที่ต้องใช้อีกครั้งกับทางกรมสรรพากร
- ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ยื่น ภ.ง.ด. 3 หรือ ภ.ง.ด. 53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกกิจการ
- ภาษีธุรกิจเฉพาะแจ้งเลิกประกอบกิจการ ต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ พร้อมคืน ภ.ธ.20 ในกรณีบัญชีมีดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือดอกเบี้ยค้างรับในงบการเงินให้ยื่น ภ.ธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจากวันที่เลิกกิจการ
จดชำระบัญชี
เมื่อจดเลิกกิจการ ประกาศลงหนังสือพิมพ์ จัดทำงบการเงิน สะสางทรัพย์สินและหนี้สินเรียบร้อยแล้ว ต่อไปคือ
- ทำหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
- จ่ายค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชี หากมีเงินคงเหลือให้คืนแก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ถือหุ้น หรือตามข้อบังคับที่ได้กำหนดไว้
- ผู้ชำระบัญชีจัดทำคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี โดยต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับตั้งแต่ที่ประชุมอนุมัติการชำระบัญชี
Tag : สำนักบัญชี / จดทะเบียนเลิกกิจการ / ปรึกษาภาษี / ทำบัญชี