คลังความรู้ สู่สังคมไทย | Advanced Research Group

Back

ข้อมูลการลงทุนเชิงลึกในตลาดสปป.ลาว 2

ข้อมูลการลงทุนเชิงลึกในตลาดสปป.ลาว 2

14-12-2016

   2.  การลงทุนใน สปป.ลาว
     รัฐบาลของ สปป.ลาว ให้การส่งเสริมการลงทุนทั้งจากผู้ลงทุนที่มีสัญชาติลาวและผู้ลงทุนจาก  ชาวต่างประเทศ โดยอำนวยความสะดวกให้เท่าเทียมกันในการเสนอขออนุมัติโครงการลงทุนเป็นแบบ One stop Service ซึ่งช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาการอนุมัติโครงการนอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิพิเศษด้านการยกเว้นภาษีโดยพิจารณาจากประเภทกิจการและพื้นที่ที่ลงทุน และการอนุญาตให้ผู้ลงทุน  ชาวต่างประเทศมีสิทธิ์ถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัย

    2.1  อำนาจการอนุมัติในการลงทุน
          ภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาวหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุมัติโครงการหรือ การลงทุนมี 2 หน่วยงานคือกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าและกระทรวงแผนงานและการลงทุน ซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกันดังนี้ 
 2.1.1  กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า 
        กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (บ้านโพนไซ เมืองไซเสดทา นครหลวงเวียงจันทน์โทรศัพท์ +856 - 21412 011โทรสาร +856 - 21453 865) จะเป็นผู้รับผิดชอบการอนุมัติโครงการ หรือการลงทุนในกิจการทั่วไปโดยมีหน่วยงานภายในของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ดูแลรับผิดชอบ ในส่วนต่างๆ ดังนี้
2.1.1.1  กรมส่งเสริมการลงทุนทั่วไปจะดูแลรับผิดชอบเรื่องต่อไปนี้
    ก.  การขึ้นทะเบียนวิสาหกิจของสาขาวิสาหกิจต่างประเทศใน สปป.ลาววิสาหกิจที่ผู้ลงทุนต่างประเทศลงทุนฝ่ายเดียว 100% การตั้งบริษัทที่ผู้ลงทุนต่างประเทศถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป การตั้งบริษัทรัฐและบริษัทผสมที่กฎหมายวิสาหกิจกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ การตั้งบริษัทมหาชน และการเปลี่ยนจากรูปแบบวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน
ข.  การตรวจและการอนุมัติชื่อวิสาหกิจ
ค.  การขึ้นทะเบียนวิสาหกิจเพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับธนาคารการประกันภัยการแปรรูปไม้ (ยกเว้นหัตถกรรมและแกะสลักไม้) การบินและการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและพาหนะ
2.1.1.2  แขวงกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแขวง/นครหลวงจะดูแลรับผิดชอบ  เรื่องต่อไปนี้
  ก.  การขึ้นทะเบียนวิสาหกิจส่วนบุคคลวิสาหกิจหุ้นส่วนสามัญวิสาหกิจหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำจัดที่ผู้ลงทุนต่างประเทศถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 ลงมา บริษัทจำกัดผู้เดียวของผู้ลงทุนภายในบริษัทรัฐและบริษัทผสมที่กฎหมายวิสาหกิจกำหนดให้แขวง/นครหลวง (เจ้าแขวงหรือเจ้าครองนคร) เป็นผู้อนุมัติ
ข.  การรับรองชื่อวิสาหกิจ
ค.  การขึ้นทะเบียนวิสาหกิจเพื่อประกอบธุรกิจที่นอกเหนือจากข้อ 1.1 (ค.)
    2.1.2  กระทรวงแผนงานและการลงทุน
  กระทรวงแผนงานและการลงทุน (บ้านสีถานเหนือ ถนนสุพานุวง เมืองสีโคดตะบอง นครหลวง -เวียงจันทน์ สปป.ลาว โทรศัพท์ +856 – 21 - 216 653, 216 562, 217 001, 217 020 โทรสาร +856 – 21 - 216 552, 217 010, 217 019, 216 754) จะเป็นผู้รับผิดชอบการอนุมัติโครงการ หรือการลงทุนในกิจการสัมปทานโดยจะมีการแบ่งลำดับชั้นในการอนุมัติโครงการตามมูลค่าการลงทุน ของโครงการต่างๆ ดังนี้
2.1.2.1  โครงการหรือกิจการที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป จะต้องผ่านการรับรองจากสภาแห่งชาติ
2.1.2.2  โครงการหรือกิจการที่มีมูลค่าการลงทุนตั้งแต่ 5 ถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงแผนงานและการลงทุน
2.1.2.3  โครงการหรือกิจการที่มีมูลค่าการลงทุนต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องผ่านการรับรองจากองค์การปกครองแขวง/นครหลวง

2.2  รูปแบบการลงทุนของผู้ลงทุนต่างประเทศ
      การลงทุนโดยตรงของผู้ลงทุนต่างประเทศใน สปป.ลาว มี 3 รูปแบบคือ
        2.2.1  การลงทุนฝ่ายเดียวของผู้ลงทุนภายในหรือชาวต่างประเทศเป็นการลงทุนบุคคลเดียวหรือ
หลายคน ในกิจการหรือโครงการหนึ่งๆ ใน สปป.ลาว
   2.2.2  การลงทุนแบบหุ้นส่วนระหว่างผู้ลงทุนภายในกับชาวต่างประเทศเป็นการลงทุนร่วมลงทุนระหว่างผู้ลงทุนสัญชาติลาวกับผู้ลงทุนชาวต่างประเทศโดยผู้ลงทุนทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ขึ้นภายใต้กฎหมายของ สปป.ลาว โดยผู้ลงทุนชาวต่างประเทศต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของทุนทั้งหมดการบริหารงานโครงการลักษณะนี้ให้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมทุนและกฎระเบียบของนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น
   2.2.3  การลงทุนธุรกิจร่วมตามสัญญาเป็นการลงทุนร่วมระหว่างนิติบุคคลสัญชาติลาวกับนิติบุคคลต่างประเทศโดยไม่ได้ตั้งนิติบุคคลใหม่หรือสาขาใน สปป.ลาว นิติบุคคลสัญชาติลาวต้องแจ้งให้แผนอุตสาหกรรมและการค้าและแผนกแผนการและการลงทุนทราบเพื่อดำเนินการตามระเบียบและสัญญาการร่วมทุน ซึ่งต้องนำไปให้สำนักงานทะเบียนศาลรับรอง

2.3  ขั้นตอนการลงทุนและสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ลงทุน
 การลงทุนของผู้ลงทุนสัญชาติลาวและผู้ลงทุนชาวต่างประเทศ ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนซึ่งกฎหมายดังกล่าวแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ประเภท คือ กิจการทั่วไปกิจการสัมปทานและกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตเศรษฐกิจเฉพาะ มีรายละเอียด ดังนี้
   1.  กิจการทั่วไป ได้รับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเช่นนโยบายยกเว้นภาษีกำไรในการลงทุนสาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม และบริการ โดยแบ่งสิทธิประโยชน์เป็น 3 ระดับ คือ กิจการที่ได้รับ   การส่งเสริมสูงสุด ปานกลางและต่ำสุดและเขตที่ตั้งของกิจการแบ่งเป็น 3 เขต คือ เขตพื้นที่ห่างไกลและยังมีสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ เขตมีสาธารณูปโภคบางส่วนและเขตเมืองที่มีความพร้อมในส่วนของสาธารณูปโภคยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบอุปกรณ์และพาหนะที่ใช้ในการผลิตยกเว้นภาษีขาออกสำหรับผลิตภัณฑ์ทั่วไปนโยบายเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆสำหรับการยกเว้นภาษีกำไรนั้น จะใช้ได้ภายหลังที่กิจการการผลิตสินค้าใหม่ได้รับการส่งเสริมได้ดำเนินธุรกิจไปแล้ว ส่วนกิจการค้นคว้าและสร้างเทคโนโลยีใหม่
2.  กิจการสัมปทาน เช่น สัมปทานที่ดินจากรัฐบาล สัมปทานขุดบ่อแร่ สัมปทานผลิตกระแสไฟฟ้า สัมปทานสายการบิน สัมปทานโทรคมนาคมหรือสถาบันการเงิน ผู้ลงทุนสัญชาติลาวและผู้ลงทุนชาวต่างประเทศ ต้องดำเนินการยื่นคำร้องผ่านศูนย์บริการ One Stop Service เพื่อขอขึ้นทะเบียนและขอใบทะเบียนสัมปทาน จากกระทรวงแผนการและการลงทุนหรือแผนกห้องการแผนการและการลงทุน เป็นผู้ออกใบสัมปทาน  ในเขตท้องถิ่นที่ตนเองมีความรับผิดชอบ เมื่อได้ใบสัมปทานแล้วผู้ลงทุนต้องดำเนินการภายใน 90 วัน  โดยระยะเวลาในการดำเนินการของกิจการสัมปทานนั้น กฎหมายกำหนดให้สูงสุดไม่เกิน 99 ปี แต่อาจจะ มีข้อยกเว้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นภายใต้กฎหมายเฉพาะหรืออาจจะมีการขอต่อระยะเวลาของกิจการสัมปทานจากรัฐบาลก็ได้
3.  กิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ เขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ เขตที่รัฐบาลกำหนดให้พัฒนาเป็นตัวเมืองใหม่รอบด้าน เพื่อดึงดูดการลงทุน มีนโยบายส่งเสริมพิเศษและมีระบบเศรษฐกิจการเงินเป็นของตนเอง มีคณะบริหารและสภาบริหารกำกับดูแลการดำเนินการภายใน มีพื้นที่เป็น 1,000 เฮกตาร์หรือ 6,250 ไร่ขึ้นไป หากมีประชาชนที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ในพื้นที่ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายออก เช่น  เขตพัฒนาเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร เขตเศรษฐกิจชายแดน เขตจัดสรรตัวเมือง หรือเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลอนุมัติให้ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการลงทุนและการประกอบธุรกิจในเขตดังกล่าว จึงมีระเบียบที่ต่างจากพื้นที่เขตเศรษฐกิจเฉพาะคือเขตที่รัฐบาลกำหนดให้เพื่อส่งเสริม ในสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น เขตอุตสาหกรรม การผลิตเพื่อส่งออก เขตท่องเที่ยว เขตการค้าปลอดภาษี เขตเศรษฐกิจชายแดน ฯลฯ มีสภาบริหารกำกับดูแลการดำเนินการภายใน โดยต้องเป็นเขตที่ไม่มีประชาชนอาศัยอยู่พัฒนาเป็น
เขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ มีทั้งหมด 10 เขต ตามการประกาศกำหนด  ของรัฐบาลเพื่อดึงดูดการพัฒนาสาธารณูปโภค หากผู้ลงทุนสนใจดำเนินกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผู้ลงทุนต้องดำเนินการเสนอแผนการลงทุนต่อคณะบริหารของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาตามระเบียบและสิทธิประโยชน์ทางภาษีของแต่ละเขตเศรษฐกิจพิเศษจะแตกต่างกันไปตามแต่ละเขตเศรษฐกิจ
    2.4  ประเภทของการลงทุน และสัดส่วนการลงทุน
 กฎหมายว่าวิสาหกิจแบ่งประเภทของวิสาหกิจที่อาจจัดตั้งขึ้นใน สปป.ลาว ไว้หลายประเภท  โดยรูปแบบของวิสาหกิจที่ผู้ลงทุนต่างประเทศดำเนินการจัดตั้งทั่วไป  ได้แก่
2.4.1  วิสาหกิจเอกชน (นิติบุคคลที่จัดขึ้นโดยเอกชนฝ่ายเดียว) สามารถจัดตั้งได้เป็น 4 ลักษณะได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุนส่วนจำกัด บริษัทจำกัด รวมทั้งบริษัทจำกัดผู้เดียวและบริษัทมหาชน
2.4.2  รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจที่รัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งและถือหุ้นในวิสาหกิจดังกล่าวเกินกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป)
2.4.3  วิสาหกิจผสม (วิสาหกิจที่เอกชนและรัฐบาลร่วมกันจัดตั้งและรัฐบาลถือหุ้นในวิสาหกิจดังกล่าวร้อยละ 50 หรือน้อยกว่า)
 

บอกต่อ : 
The Knowledge Provider (AR Group)

Back