ตัวช่วยนักการตลาดวิเคราะห์ธุรกิจ : 5 Forces Model คืออะไร?
การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์ทางการตลาด หรือวิจัยตลาดรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่มากพอที่จะช่วยให้นักการตลาดมีข้อมูลที่ดีที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นธุรกิจจึงต้องวิเคราะห์ข้อมูลหลาย ๆ ด้าน ถึงแม้ว่าการวิเคราะห์สวอต (SWOT) จะช่วยธุรกิจกำหนดทิศทางการทำธุรกิจแล้วตาม
ในปี 1980 ได้มีการพัฒนาทฤษฎี 5 Forces Model หรือที่เรียกว่า การวิเคราะห์แรงผลักดันทั้ง 5 โดยผู้คิดค้นที่มีชื่อเสียงอย่าง Michael E. Porter การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือวิเคราะห์การแข่งขันที่มีพลังอย่างมาก เพราะมันสามารถวิเคราะห์การแข่งขันในตลาด ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจ
สำหรับทฤษฎี Forces Model จะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญทั้ง 5 ประการด้วยกันที่เป็นตัวผลักดันการแข่งขันของบริษัท โดยการวิเคราะห์ Five Forces ช่วยให้คุณแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยธุรกิจได้ ดังต่อไปนี้
- ช่วยธุรกิจเข้าใจในเรื่องของแรงที่เป็นปัจจัยภายนอก ว่ามันมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างไร
- ระบุความแข็งแกร่ง หรือทิศทางของตำแหน่ง รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่ยั่งยืนในกลุ่มอุตสาหกรรม
- เมื่อธุรกิจทราบถึงความแข็งแกร่งของแรงทั้งห้านี้ คุณจะสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขัน และสร้างผลกำไรได้มากขึ้น
- เมื่อมองเห็นโอกาส ธุรกิจสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งของธุรกิจได้ เพื่อลดความกดดันในการแข่งขัน รวมถึงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
5 แรงผลักดันที่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมการแข่งขัน (Competitive Environment) และปัจจัยที่สามารถทำลายผลกำไรของธุรกิจ ได้แก่
1.Competition : แรงผลักดันนี้จะดูเรื่องการแข่งขัน โดยจะมุ่งไปที่จำนวนและความแข็งแกร่งของคู่แข่ง อย่างเช่น คุณมีคู่แข่งกี่คน? พวกเขาคือใคร เป็นต้น แล้วเมื่อนำผลิตภัณฑ์และบริการของคู่แข่งมาเปรียบเทียบคุณภาพกับของคุณผลออกมาเป็นอย่างไร? คุณต้องวิเคราะห์ให้ครอบคลุมถึงเรื่องพวกนี้ด้วย
2.Supplier Power : แรงของผู้ผลิตสินค้า หรือซัพพลายเออร์ เป็นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจวิเคราะห์ซัพพลายเออร์ว่ามีศักยภาพอย่างไร และผลิตภัณฑ์หรือบริการมีความพิเศษเพียงใด รวมถึงราคาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อกำไรของธุรกิจ
3.Buyer Power : แรงของผู้ซื้อ หรือผู้บริโภค จะทำให้คุณทราบว่ามีผู้ซื้อกี่คน และมีคำสั่งซื้อจำนวนเท่าใด และหากลดราคาจะทำให้ผู้ซื้อหันมาซื้อสินค้ามากขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ทำให้ธุรกิจรู้ถึงความแข็งแกร่งของลูกค้าตนเองอีกด้วย
4.Threat of Substitution : ภัยคุกคามของสินค้าทดแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รายได้ของธุรกิจลดลง เพราะคำว่าสินค้าทดแทนนั้นหมายถึง สินค้าที่มีความคล้ายกันกับสินค้าของเรา ทำให้ลูกค้าหันไปเลือกสินค้าของคู่แข่งได้เหมือนกัน
- คุณจะกินเป๊ปซี่ แต่ที่ร้านเป๊ปซี่หมด/ไม่มีเป๊ปซี่ขาย คุณเลยเลือกกินโค้กแทน เป็นต้น
ดังนั้นการทดแทนที่ง่ายและมีราคาที่ไม่ได้แตกต่างกัน สามารถทำให้ตำแหน่งทางการตลาดของคุณอ่อนแอลงและเข้ามาคุกคามกำไรของคุณได้
5.Threat of New Entry : ภัยคุกคามของธุรกิจรายใหม่ ธุรกิจรายเก่าอาจจะคิดว่า พวกธุรกิจรายใหม่จะมาสู้ธุรกิจที่ทำมาก่อนได้ยังไง เราอยากบอกว่าอย่าประเมินความสามารถของพวกเขาต่ำไป เพราะธุรกิจรายใหม่มักจะเล่นกับกระแสที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนหันไปสนใจพวกเขามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ตำแหน่งของคุณได้รับผลกระทบจากความสามารถของธุรกิจใหม่
- เมื่อ 2 ปีก่อนเว็บไซต์ของคุณติดอันดับการค้นหาอยู่ในหน้าแรก แต่ตอนนี้เว็บไซต์ของคุณอยู่ในอันดับ 10 ในผลการค้นหา เป็นเพราะธุรกิจรายใหม่ที่มีเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ดังนั้นคุณต้องคิดอยู่เสมอว่า คุณมีกลยุทธ์อะไรบ้างที่จะมาสู้กับธุรกิจรายใหม่ได้ง่ายที่สุด? หรือการตั้งหลักในตลาดเป็นเรื่องง่ายแค่ไหน? ซึ่งต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้วย อย่างบนออนไลน์อาจจะเสียเงินไม่เยอะมาก แต่ก็ต้องจ่ายบ่อย ๆ