จดโดเมนแล้ว นำไปใช้งานได้ทันทีหรือไม่?
จดโดเมนแล้ว นำมาใช้งานได้ทันทีหรือไม่
คำถามยอดฮิตของคนเริ่มทำธุรกิจ เริ่มสร้างเว็บไซต์
เราเข้าใจดีว่า ใคร ๆ ต้องการความรวดเร็ว
อยากจดโดเมนแล้วใช้งานกับเว็บไซต์แล้วได้เลย
ซึ่งโดเมนเนม หลาย ๆ ตัวสามารถจดโดเมนแล้วใช้ได้เลย
แต่บางตัวต้องใช้เอกสารมากกว่า และใช้การตรวจสอบที่นานกว่า
ระยะเวลาในการจดโดเมนขึ้นอยู่แต่ละโดเมน
ซึ่งเราจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน
จดโดเมนกลุ่มที่ 1 : กลุ่มชื่อโดเมนเนมสาธารณะ หรือชื่อโดเมนเนมสากล
ซึ่งหากเป็นโดเมนเนมที่ใช้นามสกุลโดเมนในกลุ่มที่ 1 ไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ
นอกจากสำเนาบัตรประชาชน ในการประกอบการจดโดเมน
ตัวอย่างกลุ่มที่ 1 ได้แก่ .com, .net, .org, .info, .asia, .biz, .top, .shop เป็นต้น
ซึ่งนามสกุลโดเมนเนมเหล่านี้มีหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ
องค์กร และหน่วยงานที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ดูเหมือนว่าหลาย ๆ ธุรกิจจะเลือกจดโดเมน
โดยใช้นามสกุลโดเมน .com มากกว่านามสกุลโดเมนอื่น ๆ
เนื่องจากมีการใช้งานมานาน มีความเป็นสากล สามารถเข้าถึงผู้เข้าชมได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม .com มีผู้ใช้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงมีชื่อโดเมนเนมใกล้เคียงกัน
ซึ่งอาจทำให้ผู้เข้าชมเข้าใจผิดได้ และอาจมีคนจดโดเมนชื่อเดียวกับเราไปแล้ว
นั่นจึงทำให้เราต้องเปลี่ยนชื่อโดเมนใหม่ สำหรับการจดโดเมนให้กับธุรกิจ
จดโดเมนกลุ่มที่ 2 : โดเมนเนมเฉพาะ
เป็นกลุ่มนามสกุลโดเมนที่ต้องใช้เอกสารประกอบในการจดโดเมน
อันได้แก่นามสกุลโดเมนต่อไปนี้
.th = โดเมนเนมที่ใช้นามสกุล .th ถูกจำกัดเอาไว้สำหรับคนไทย หรือผู้ประกอบธุรกิจ องค์ หน่วยงานในประเทศไทย ที่จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นการจดโดเมนประเภทนี้จะต้องใช้เอกสารประกอบ เพื่อยืนยันและตรวจสอบว่าเป็นคนไทย หรือเป็นธุรกิจ องค์กร หน่วยงานในประเทศไทยจริง ๆ ซึ่งรวมไปถึงโดเมนระดับที่สอง ดังต่อไปนี้
- .ac.th (academic institutions) : เป็นโดเมนสำหรับสถาบันการศึกษา ผู้ที่สามารถจดโดเมนด้วยนามสกุล .ac.th ได้ต้องเป็นสถาบันศึกษาที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น
เอกสารที่ต้องใช้ : หนังสือจัดตั้งโรงเรียน, หนังสือรับรองจากโรงเรียนที่ระบุ หน่วยงานที่สังกัด และที่ตั้งของโรงเรียน พร้อมประทับตราและเซ็นต์รับรอง โดยผู้อำนวยการโรงเรียน
- .co.th (commercial entities) : เป็นโดเมนสำหรับพาณิชย์และธุรกิจในไทย ซึ่งธุรกิจจะต้องจดทะเบียนบริษัทในไทย หรือบริษัทต่างประเทศที่มีตัวแทนอยู่ในไทย
เอกสารที่ต้องใช้ : หนังสือรับรองบริษัท, ใบ ภ.พ. 20 (ภาษีมูลค่าเพิ่ม), ใบ ท.ค. 0401 (ทะเบียนการค้า) นอกจากนี้ชื่อโดเมนจะต้องสอดคล้องกับชื่อธุรกิจ หรือเป็นชื่อย่อขององค์กร หรือจะสอดคล้องกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ**
- .go.th (government use) : สำหรับหน่วยงานและองค์กรของภาครัฐ ดังนั้นผู้ขอจดโดเมนจะต้องเป็นหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น
เอกสารที่ต้องใช้ : หนังสือจากหน่วยงานที่แจ้งความประสงค์จดโดเมนถึง CIO หรือผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง และหนังสือรับรองที่ออกโดยผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง
- .net.th (Internet providers) : สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
เอกสารที่ต้องใช้ : ใบอนุญาตประกอบกิจการคมนาคม
- .or.th (non-profit organizations) : สำหรับหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรในไทย
เอกสารที่ต้องใช้ : หนังสือจัดตั้งองค์กร
- .mi.th (military use) : สำหรับหน่วยงานทหาร
เอกสารที่ต้องใช้ : หนังสือรับรองอนุญาตให้หน่วยงาน/องค์กรของทหารจดโดเมนที่ขอจากกรมการสนเทศทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด
- .in.th (individuals / organizations) : สำหรับบุคคลทั่วไป หรือหน่วยงานทุกประเภทที่อยู่ในประเทศไทย
เอกสารที่ต้องใช้ : สำหรับประเภทนี้แบ่งได้ 2 แบบ คือแบบบุคคลทั่วไป สำเนาบัตรประชาชน/สำเนาใบขับขี่ หรือหนังสืออนุญาตประกอบอาชีพของคนต่างด้าว พร้อมทั้งหลักฐานการชำระค่าบริการ ส่วนแบบที่ 2 คือในนามองค์กรต้องใช้หนังสือรับรองบริษัท, ใบ ภ.พ. 20 (ภาษีมูลค่าเพิ่ม), ใบ ท.ค. 0401 (ทะเบียนการค้า) พร้อมทั้งหลักฐานการชำระค่าบริการ
ดังนั้น หากจดโดเมนในกลุ่มที่ 2 จะต้องมีเวลาในการตรวจสอบเอกสาร เพื่อยืนยันว่าผู้จดโดเมนมีตัวตน และธุรกิจมีอยู่จริงในประเทศไทย อย่างน้อย 2-3 วัน แต่ถ้ารีบแนะนำให้จดโดเมนในกลุ่มที่ 1 หรือนามสกุลที่เป็นสากล แบบนั้นจะใช้เวลาน้อยกว่า เหมาะผู้ที่รีบใช้งานโดเมน