ภาษีมรดกคืออะไร ทำไมทายาทหรือผู้รับมรดกต้องจ่าย
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีที่เรียกว่า “ภาษีมรดก” แล้วนะคะ ซึ่งได้เริ่มจัดเก็บภาษีมรดกตั้งปี พ.ศ. 2559 นับเป็นการเริ่มเก็บภาษีมรดกอย่างจริงจังหลังจากเคยมีการจัดเก็บมาแล้วแต่ต้องล้มเลิกไป แต่ในปัจจุบันนำกลับมาใช้อีกครั้ง และดูจะเป็นเรื่องที่ทำให้คนที่ประกอบธุรกิจครอบครัวหัวหมุนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากทรัพย์สินทุกอย่างต้องถูกส่งต่อไปรุ่นสู่รุ่นและต้องมีการเสียภาษีมรดกเมื่อมีการโอนทรัพย์สินจากผู้ตายไปยังผู้รับมรดกหรือทายาท
เราเห็นความสำคัญของภาษีมรดกมากขึ้น หลังจากได้ตามอ่านข่าว “ทายาทบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศเกาหลีใต้” อาจต้องเสียภาษีมรดกมากถึง 3 แสนล้านบาท หลังจากการเสียชีวิตของประธานบริษัท นั่นเป็นเพราะมรดกเหล่านั้นมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท อีกทั้งประเทศเกาหลีใต้มีการเรียกเก็บภาษีมรดกในอัตราสูงสุดที่ 50% ทำให้ทายาทและผู้รับมรดกต้องเสียภาษีมรดกมูลค่ามหาศาล
มาดูกันที่ ภาษีมรดกของประเทศไทยกันบ้าง สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ได้รับมรดกที่มีมูลค่ารวมเกิน 100 ล้านบาท เป็นภาษีการรับมรดก ซึ่งจะมีอัตราภาษีอยู่ที่ 5% และ 10% โดยทรัพย์สินที่นับเป็นภาษีมรดกนั้นได้แก่
- อสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคาร บ้านหรือที่ดิน
- เงินฝาก
- หลักทรัพย์ เช่น ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตร
- ยาพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน
- ทรัพย์สินทางการเงินอื่น ๆ
สำหรับการคิดภาษีมรดก อัตราภาษี 5% และ 10% นั้นจะถูกนำมาคิดดังต่อไปนี้ มรดกที่มีมูลค่ารวมเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีในอัตราคงที่ 10% แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นพ่อแม่, ปู่ย่า, ตายาย หรือทวด รวมถึงลูก หลาน เหลน โหลน หรือลื้อ อัตราภาษีจะลดลงเหลือเพียง 5% ส่วนคู่สมรสนั้นได้รับการยกเว้นภาษีมรดก แม้ว่าจะได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทก็ตาม
แต่การคิดภาษีมรดกก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะถ้ามีมรดกรวมเกิน 100 ล้านบาท แต่แบ่งให้คนอื่น ๆ ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ผู้รับมรดกก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีมรดก หรือการแสดงเจตนาเพื่อบริจาค ใช้ในกิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณะประโยชน์ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคล และองค์กรต่างประเทศตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ การเก็บภาษีมรดกข้างต้น อาจทำให้หลายคนเลือกที่จะโอนทรัพย์สินแบ่งไปให้ผู้รับมรดกหลายคน เพื่อเลี่ยงภาษีตรงนี้ จึงได้เพิ่มการเก็บภาษีที่เรียกว่า “ภาษีการรับการให้” ที่ทำให้ผู้รับทรัพย์สินต้องเสียภาษี 5% ของทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาท หากผู้รับทรัพย์สินเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส จะต้องเสียภาษี 5% ของทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาท
หากจำเป็นต้องรับทรัพย์สินเกิน 100 ล้านบาทจริง ๆ ต้องไปแจ้งและเสียภาษีกับกรมสรรพากรภายใน 150 วัน คุณสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ภายใน 2 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย ถ้าไปแจ้งและเสียภาษีช้า ต้องจ่ายเบี้ยปรับ 1 เท่า พร้อมดอกเบี้ยที่จ่ายช้าในร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนับจากวันที่ครบกำหนด และควรยื่นภาษีให้ครบ เพราะถ้ามีการตรวจสอบย้อนหลังจะต้องโดนปรับอีก 0.5 เท่าพร้อมบวกเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
ดังนั้น ควรวางแผนการส่งมอบทรัพย์สินและมรดกไว้ตั้งแต่คุณยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สินส่วนไหนที่สามารถส่งมอบได้ก่อนก็ส่งมอบไป แล้วเก็บไว้เป็นมรดกส่วนหนึ่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีในอนาคต