News & Events

Back

ประกันสังคมเล็งปรับเพดานเงินสมทบ หากผู้ประกันตนเห็นด้วยเกิน 80%

15-06-2018 การตลาด/สังคม มติชน

ประกันสังคมเล็งปรับเพดานเงินสมทบ หากผู้ประกันตนเห็นด้วยเกิน 80%

            ประกันสังคม เป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือน  คนสมัครงานบริษัทและอาชีพอื่น ๆ ต้องคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากคุณเป็นนิสิต นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานอยู่ควรทำความเข้าใจด้วยว่า หากคุณเริ่มทำงานคุณจะต้องจ่ายค่าประกันสังคม เพื่อเป็นเงินสมทบ ซึ่งเงินสมทบจะทำให้เราสามารถเบิกประกันสังคมเป็นค่ารักษาพยาบาล เก็บไว้เป็นเงินออมเมื่อผู้ประกันตนเกษียณอายุ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ

            แต่ล่าสุด นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เปิดเผยถึงเรื่องการปรับอัตราเงินสมทบใหม่นี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำความเข้าใจกับผู้ประกันตน โดยได้ใช้วิธีทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ ซึ่งหากมีผู้ประกันตนเห็นด้วยเกินร้อยละ 80 ถึงจะขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเพดานเงินเดือน สำหรับการปรับขึ้นอัตราเงินสมทบประกันสังคมใหม่ อย่างไรก็ตามหลังจากมีข่าวการปรับอัตราใหม่ออกไปสู่ออนไลน์ ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย อย่างเช่น การปรับขึ้นไม่สอดคล้องกับค่าจ้างที่ได้รับบ้าง หรือปรับขึ้นแล้วผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่คุ้มค่ากับเงินที่พวกเขาต้องจ่ายทุก ๆ เดือน ดังนั้นเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจึงต้องการให้ผู้ประกันตนทำความเข้าใจนโยบายใหม่

            โดยนโยบายปรับเพดานเงินสมทบจะทำให้ผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อยยังจ่ายในอัตราเท่าเดิม แต่สำหรับคนที่มีฐานเงินเดือนสูงจะมีการปรับอัตราเงินสมทบขึ้นเป็น 1000 บาท แต่การจ่ายในอัตราที่เพิ่มขึ้นผู้ประกันก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มด้วย (เฉพาะผู้ประกันตนที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม)ซึ่งสิทธิประโยชน์หลักที่เพิ่มขึ้นมีดังต่อไปนี้

  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดมาก่อน อันเป็นเหตุทำให้ขาดรายได้และต้องลางานเกิน 30 วัน ผู้ประกันตนมีสิทธิ์เบิกประกันสังคมได้มากขึ้นในระยะเวลา 3 เดือน
  • กรณีลาออก และว่างงานตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จะได้รับเงินเพิ่มจากเดิม เป็นเวลา 3 เดือน
  • กรณีถูกนายจ้างเลิกจ้าง โดยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย จะได้รับเงินเพิ่มขึ้น เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • และกรณีต่าง ๆ ต่อไปนี้ที่จะได้รับเงินมากขึ้นกว่าเดิม ได้แก่เงินสงเคราะห์คลอดบุตร, เงินชดเชยทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีชราภาพ

     อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนท่านใดมีความคิดเห็นหรือต้องการนำเสนอทางเลือกอื่น ๆ สามารถส่งความคิดเห็นของท่านไปยังสำนักงานประกันสังคมได้ เพื่อจะได้นำความคิดเห็นเหล่านี้ไปตัดสินใจและปรับใช้กับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้อย่างคุ้มค่าและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

อ้างอิงจาก : สำนักงานประกันสังคม, มติชน

บอกต่อ : 
ข่าวที่แนะนำ

Back